เทคนิคปลูก เก้กฮวย ไม้ดอกชงชา สร้างรายได้ดี

“เก๊กฮวย” ไม้ดอกชงชา สร้างรายได้ดีให้เกษตรกรบนพื้นที่สูง
จากปัญหาการใช้สารเคมีอย่างต่อเนื่องในการปลูกไม้ดอกอย่างดอกเบญจมาศ ส่งผลให้เกษตรกรพื้นที่สูงในอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ หลายรายมีสุขภาพร่างกายที่เสื่อมโทรมลง อีกทั้งการใช้สารเคมีที่มีราคาแพงยังทำให้ต้นทุนการปลูกของเกษตรกรสูงขึ้นมาก ขณะที่ผลผลิตและราคาที่ได้กลับมีความผันผวนไปตามปัจจัยแวดล้อมและกลไกของตลาด เกษตรกรจึงมุ่งหาพืชพรรณชนิดใหม่ ๆ มาปลูกทดแทน 

หนึ่งในพืชที่เกษตรกรให้ความสนใจก็คือ “เก๊กฮวย” ไม้ดอกกลิ่นหอม นำมาอบแห้งและใช้ชงเป็นชา ซึ่งเป็นพืชที่มีราคาดีและตลาดต้องการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เกษตรกรได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ทั้งในเรื่ององค์ความรู้การปลูก การจัดการดูแล การเก็บผลผลิตให้ได้คุณภาพ รวมทั้งพื้นที่สำหรับการปลูก ต้นทุนการปลูก ตลอดจนรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรด้วย 

อาจารย์อดิศักดิ์ การพึ่งตน นักวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (0-5349-8169) ให้ข้อมูลว่าด้วยเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้ปลูกเบญจมาศที่มีการใช้สารเคมีมานานปี และเกษตรกรเองก็อยากปรับเปลี่ยนวิถีเกษตรของตนเอง ทางมหาวิทยาลัยจึงส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกเก๊กฮวย ซึ่งเป็นพืชตระกูลเดียวกับเบญจมาศ ดังนั้นองค์ความรู้ในการจัดการดูแลจึงไม่แตกต่างกันมากนัก ซึ่งเกษตรกรก็พอมีพื้นฐานตรงนี้อยู่แล้วนั่นเอง

“ทว่าการปลูกก็ตั้งใจส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกแบบอินทรีย์ คือไม่มีการใช้สารเคมีใด ๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากเก๊กฮวยต้องใช้ส่วนดอกมาชงเป็นชาโดยตรง หากมีการใช้สารเคมีก็อาจตกค้างถึงผู้บริโภคได้ แต่ทว่าด้วยพื้นที่เดิมของเกษตรกรก็อาจมีสารเคมีตกค้างอยู่ ซึ่งก็ต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยน จึงได้ให้เกษตรที่สนใจเข้ามาใช้พื้นที่ฟาร์มของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกแบบอินทรีย์อยู่แล้ว ก็ทำให้ผลผลิตได้มาตรฐานและผ่านการรับรองเกษตตรอินทรีย์ได้ทันที”

อาจารย์อดิศักดิ์บอกว่า ปัจจุบันถือเป็นปีที่ 2 ที่มีเกษตรกรเข้ามาใช้พื้นที่เพื่อปลูกเก๊กฮวย โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมจำนวน 15 ครอบครัว เพิ่มจากปีแรก 3 ครอบครัว เกษตรกรแต่ละครอบครัวจะได้รับสิทธิ์พื้นที่ปลูกจำนวน 5 แปลง พื้นที่ประมาณ 1 งาน รวมพื้นที่ปลูกเก๊กฮวยทั้งหมดประมาณ 3 ไร่ ซึ่งเป็นขนาดที่พอเหมาะที่เกษตรกรสามารถใช้แรงงานภายในครอบครัวในการจัดการดูแล รวมทั้งเก็บผลผลิตได้ หากมากกว่านี้เกษตรกรอาจดูแลได้ไม่ทั่วถึง เนื่องจากการดูแลมีรายละเอียดค่อนข้างมาก โดยเฉพาะขั้นตอนการเก็บผลผลิต หากทำได้ไม่ดีพอก็จะส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณผลผลิตโดยตรง 

“ทางมหาวิทยาลัยสนับสนุนทั้งพื้นที่การปลูก ต้นทุนต่าง ๆ ในการผลิต องค์ความรู้ในการจัดการดูแล ตลอดจนรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรด้วย ซึ่งเกษตรกรมีหน้าที่ดูแลและเก็บเกี่ยวผลผลิตเท่านั้น โดยราคาที่รับซื้อในปัจจุบันอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 50 บาท โดยเฉลี่ยแล้วเกษตรกรใช้เวลาในการเก็บผลผลิตประมาณ 1 เดือน ในช่วงเช้าและเย็นเท่านั้น ซึ่งก็ทำให้เกษตรกรมีรายได้อยู่ที่ 15,000-20,000 บาท ถือเป็นรายได้เสริมที่ดีเลยทีเดียว

สำหรับการปลูกเก๊กฮวยแบบอินทรีย์ เริ่มจากการปรับปรุงสภาพพื้นที่ให้มีความเหมาะสมและให้มีธาตุอาหารอย่างเพียงพอตลอดการปลูก โดยการหว่านปอเทืองให้เต็มพื้นที่ หากเป็นไปได้ก็เริ่มหว่านช่วงต้นฤดูฝน หลังจากที่ปอเทืองติดดอกให้เห็นประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ก็ไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดแล้วก็ปล่อยให้ย่อยสลายอยู่ในดิน
ประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ก็เริ่มขั้นตอนการปลูก โดยการไถพรวนให้ดินมีความร่วนซุย จากนั้นก็ยกร่องความกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวขนานกันไปตามพื้นที่ ระยะห่างระหว่างแปลงประมาณ 70 เซนติเมตร ติดตั้งระบบน้ำ ซึ่งที่นี่ใช้เป็นระบบน้ำหยดโดยวางท่อน้ำไปตามแนวความยาวของแปลง จากนั้นก็คลุมพลาสติกคลุมแปลงซึ่งนอกจากช่วยควบคุมวัชพืชแล้ว ยังเก็บรักษาความชื้นในดินไว้ด้วย 

จากนั้นก็เจาะหลุมปลูก ซึ่งแปลงหนึ่งเจาะเป็น 2 แถวคู่ แต่ละหลุมห่างกันประมาณ 30 เซนติเมตร แล้วนำต้นพันธุ์มาลงปลูก โดยต้นพันธุ์ที่ใช้ได้มาจากการขยายพันธุ์ด้วยการปักชำภายในโรงเรือน ซึ่งใช้ระยะเวลาในการชำประมาณ 1 เดือน เมื่อรากเจริญเติบได้ดีแล้วก็ย้ายมาลงปลูกในแปลงได้เลย หากปลูกตามที่ระบุไว้ ในพื้นที่ 1 งานต้องใช้ต้นพันธุ์ประมาณ 1,500 ต้น 

“เก๊กฮวยเป็นพืชที่ชอบอากาศที่หนาวเย็น ทำให้ปลูกได้ดีในพื้นที่ภาคเหนือ แต่อย่างไรก็ตามพื้นที่อื่น ๆ ไม่ว่าเป็นภาคอีสานหรือภาคกลางในช่วงฤดูหนาวที่อากาศในเวลากลางคืนต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส ก็สามารถปลูกได้เช่นกัน เหมือนกับดอกเบญจมาศที่สามารถปลูกได้ดีในพื้นที่ภาคกลาง แต่ทั้งนี้ต้องศึกษาปัจจัยความต้องการด้านต่าง ๆ ประกอบกันด้วย” 

หลังจากปลูกแล้วต้องรดน้ำทุกวัน ซึ่งระบบน้ำหยดที่วางไว้ตั้งแต่แรกทำให้จัดการให้น้ำได้ง่ายขึ้น ทั้งยังมีประสิทธิภาพที่ดีด้วย แต่ทว่าต้องคอยสังเกตด้วยว่าทุกแปลงได้รับน้ำอย่างทั่วถึงหรือไม่ เนื่องจากบางครั้งอาจมีปัญหาท่ออุดตันหรือแรงดันน้ำไม่เพียงพอทำให้เก๊กฮวยขาดน้ำได้ ต้องคอยสังเกตเพื่อจะได้แก้ไขได้ทันท่วงที และหลังจากปลูกแล้ว ก็ให้ปุ๋ยคอกทุก ๆ 15-20 วัน ซึ่งแปลงเก๊กฮวยที่ปลูกได้ใช้มูลค้างคาวเนื่องจากหาได้ง่ายในพื้นที่ แต่พื้นที่อื่น ๆ สามารถใช้ปุ๋ยคอกชนิดอื่นทนแทนก็ได้ โดยพื้นที่ 1 งานใช้ปุ๋ยคอกครั้งละประมาณ 25 กิโลกรัมเท่านั้น โดยโรยรอบ ๆ โคนต้น
ส่วนการจัดการดูแลด้านอื่น ๆ ก็ไม่ได้ยุ่งยากมากนัก เนื่องจากปลูกในระบบอินทรีย์ ซึ่งเน้นให้ธรรมชาติจัดการกันเอง บ่อยครั้งที่พบเห็นการรบกวนของหนอน แต่ก็ไม่ถึงกับมากมายนัก หากพบเห็นก็ใช้วิธีเก็บออก รวมทั้งหากมีเพลี้ยระบาด แมลงเต่าทองก็มากิน ซึ่งแมลงก็ควบคุมกันเอง ไม่จำเป็นต้นฉีดพ่นสารเคมีในการกำจัดแมลงแต่อย่างไร
“เก๊กฮวยถือเป็นพืชวันสั้น กล่าวคือ เมื่อเข้าฤดูหนาวที่มีช่วงเวลากลางวันน้อยกว่ากลางคืน หรือช่วงแสงที่สั้นลง ก็จะกระตุ้นเก๊กฮวยให้ติดดอกออกมาให้เห็น ซึ่งไม่ว่าปลูกช่วงเดือนกรกฎาคม สิงหาคมหรือกันยายน แต่พอเข้าช่วงเดือนตุลาคมเก๊กฮวยก็จะออกดอก ดังนั้นแนะนำให้เกษตรกรได้เริ่มปลูกช่วงประมาณปลายเดือนกรกฎาคมไปจนถึงต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด ที่ทำให้เก๊กฮวยออกดอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ” 

อาจารย์อดิศักดิ์บอกว่า โดยปกติแล้วเก๊กฮวยจะเริ่มติดดอกเห็นเป็นตุ่มเล็ก ๆ ประมาณเดือนตุลาคม และก็จะเริ่มบานประมาณวันที่ 15-20 พฤศจิกายน จากนั้นเกษตรกรสามารถเข้าเก็บผลผลิตได้ และเก็บได้อย่างต่อเนื่องไปจนถึงประมาณวันที่ 20 ธันวาคม ผลผลิตก็หมด ระยะเวลาในการเก็บก็ 30 วันโดยประมาณ
สำหรับวิธีการดูว่าดอกไหนเก็บได้หรือไม่ ให้ดูตรงกลางส่วนที่เป็นเกสร ดอกที่เก็บได้เกสรต้องบาน 2 ใน 3 ของดอก หากเก็บดอกที่บานยังไม่เต็มที่ เมื่อนำไปแปรรูปทำให้มีลักษณะที่เหม็นเขียว แต่ถ้าเก็บดอกที่แก่เกินไปหรือเกสรบานจนกลายเป็นสีดำ ดอกเหล่านี้ก็ไม่มีกลิ่นหรือรสชาติอะไรเลย ซึ่งไม่เป็นที่ต้องการของตลาดเช่นกัน ดังนั้นการเลือกเก็บเก๊กฮวยที่มีคุณภาพ ก็ดูจากเกสรเป็นหลักนั่นเอง
อาจารย์อดิศักดิ์บอกว่า โดยปกติแล้วเก๊กฮวยต้นหนึ่งให้ผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 3 ขีดตลอดการเก็บเกี่ยว ดังนั้นพื้นที่ 1 งาน ซึ่งปลูกเก๊กฮวยประมาณ 1,500 ต้น ให้เกษตรกรมีผลผลิตรวมอยู่ราว ๆ 450 กิโลกรัม โดยทางมหาวิทยาลัยรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 50 บาท ให้เกษตรกรมีรายได้ถึง 22,500 บาทเลยทีเดียว ซึ่งเป็นรายได้ที่ไม่ต้องหักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น 

“ในกรณีที่เกษตรกรสนใจต้องการลงทุนปลูกเอง ซึ่งต้นทุนการปลูกเก๊กฮวยค่อนข้างสูง โดยเฉพาะค่าต้นพันธุ์ ตกต้นละ 4-5 บาท พื้นที่ 1 งานต้องลงทุนค่าพันธุ์มากถึง 6,000-7,500 บาท ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการเตรียมแปลง ดังนั้นเกษตรกรจำเป็นต้องแปรรูปเองด้วย ซึ่งก็ทำให้ดอกเก๊กฮวยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 1,000 บาท เกษตรกรถึงจะคุ้มค่า ซึ่งขั้นตอนการแปรรูปดอกเก๊กฮวยทำได้ง่าย ๆ โดยการนำดอกไปนึ่งเพื่อเป็นการทำให้สีคงที่พร้อมกับฆ่าเชื้อ ก่อนที่นำไปอบให้แห้ง เพียงเท่านี้ก็พร้อมที่นำไปจำหน่ายหรือใช้ประโยชน์ได้” อาจารย์อดิศักดิ์กล่าวทิ้งท้า

ความคิดเห็น

  1. อยาก​เห็น​โคราช​ปลูกเก๊กฮวย​

    ตอบลบ
  2. นักวิทยาศาสตร์​ไทย​ไม่​สามารถ​ทำให้​เก๊กฮวย​ปลูก​ใน​อากาศ​ร้อน

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น