เทคนิคการปลูกมะยงชิดให้ผลหวาน และไหญ่เท่าไข่ไก่

นับจากราวเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเมษายน ของทุกปี หากใครมีโอกาสเดินทางผ่านเข้าเมืองนครนายกจะพบเห็นไม้ผลลูกกลมสีเหลืองที่ร้อยเป็นพวงสวยงามแขวนไว้หน้าร้านตลอดสองข้างทาง แล้วต้องบอกว่านั่นคือมะยงชิด


ชื่อมะยงชิดมักถูกเรียกคู่กับมะปราง จนเกิดคำถามว่าทั้งสองอย่างเป็นผลไม้พี่น้องกันหรือ แต่หลังจากสืบค้นจนทั่วแล้วพบว่าเป็นไม้ผลกลุ่มเดียวกัน ประวัติที่มาถูกเริ่มต้นจากมะปรางก่อน จากนั้นถูกนำมาปลูกหลายแห่งจนกลายพันธุ์เป็นมะยงชิด เพราะมีรสหวาน กรอบ ผลขนาดใหญ่ เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค

แต่กระนั้นมะปรางก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่รูปร่างลักษณะผลเหมือนกันกับมะยงชิด เพราะฉะนั้น ความสับสนเช่นนี้คงมีชาวบ้านที่ปลูกในพื้นที่เท่านั้นที่แยกออกด้วยการชิม และไม่ว่าอย่างไรผู้คนมักรู้จักผลไม้ลูกกลมสีเหลืองนี้ว่ามะปรางหวาน-มะยงชิด

ทั้งนี้ มะปรางหวาน-มะยงชิด เป็นไม้ผลพื้นเมืองที่น่าจับตามอง เป็นที่ต้องการของตลาดสูง แถมมีราคาจำหน่ายค่อนข้างแพง เนื่องจากมีข้อจำกัดที่ออกตามฤดูกาล และมีพื้นที่การปลูกค่อนข้างน้อย

ชาวนครนายกปลูกมะปรางหวาน-มะยงชิดกันมาเป็นเวลายาวนาน จึงถือได้ว่าเป็นแหล่งมะปรางหวาน-มะยงชิดที่ขึ้นชื่อเรื่องรสชาติและไม่แพ้จังหวัดอื่น สร้างรายได้ให้แก่ชาวสวนมากมายในช่วงฤดูกาลเพราะชาวสวนนครนายกมีการดูแลผลผลิต พัฒนาสายพันธุ์ให้มีรสชาติที่แตกต่าง ผลผลิตผลใหญ่ สีสันสดใส หวานกรอบ

การปลูกมะปราง-มะยงชิดแบบระบบปิด ใช้ระยะปลูก 4 คูณ 4 เมตร และควบคุมการใช้ปุ๋ยเคมี โดยเน้นการบำรุงต้นด้วยปุ๋ยชีวภาพและปุ๋ยคอกเป็นหลัก โดยปุ๋ยชีวภาพ ผลิตจากปลาหมักกับจุลินทรีย์ (พด.1) แล้วนำไปราดบริเวณโคนต้น หรือจะผสมน้ำฉีดพ่นทุกๆ 7 วัน จะช่วยทำให้ลำต้น ใบ และยอดแข็งแรง อีกทั้งยังช่วยทำให้ได้ผลผลิตถึงปีละ 4 ครั้ง เฉลี่ยต้นละประมาณ 50 กิโลกรัม

สำหรับปุ๋ยคอกมีการใส่ขี้ไก่เป็นประจำทุกปี จำนวนขี้ไก่ที่ใส่ไม่เท่ากันโดยจะดูจากขนาดของต้นเป็นหลัก ถ้าเป็นต้นใหญ่จะใส่ต้นละ 5-6 กระสอบ (กระสอบละ 20 กิโลกรัม) ในทุกปี ช่วงประมาณเดือนกรกฎาคม เพราะจะช่วยในเรื่องการออกดอกในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม แล้วยังช่วยทำให้ได้ขนาดผลใหญ่ ถ้าหากไปใส่ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่เป็นฤดูฝนแล้วผลจะเล็ก

การดูแลมะปราง มะยงชิดให้เจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ ไม่ได้ยุ่งยากและไม่ต้องดูแลใกล้ชิดมาก เหมือนกับไม้ผลชนิดอื่นๆ ส่วนเรื่องโรคและแมลง ที่เป็นศัตรูกับมะปราง มะยงชิด ก็มีไม่มาก อาจมีบ้างในช่วงออกดอกที่มีเพลี้ยไฟเข้ามาทำลาย ดังนั้น ภายหลังที่ดอกบานแล้วสัก 4 วัน จะฉีดพ่นยาฆ่าเพลี้ยไฟสัก 2 ครั้งเท่านั้น ส่วนการให้ปุ๋ยและการให้น้ำก็ไม่ยุ่งยาก เพียงแค่ให้สัมพันธ์กับทรงพุ่มเท่านั้นเอง

การทาบกิ่งมะยงชิด

เริ่มต้นจากการเพาะเมล็ด จนเกิดเป็นต้นอายุ 1 ปี แล้วถอนขึ้นมาล้างน้ำ นำมาชำในถุงพลาสติกขนาด 3 คูณ 5 นิ้ว ที่อัดด้วยขุยมะพร้าว จากนั้นปล่อยให้ต้นฟื้นตัวก่อนแล้วค่อยนำไปขึ้นทาบ

หลังจากทาบได้ 25-30 วัน ให้สังเกตว่าหากกิ่งต้นตอที่ทาบไม่ตาย ต้องจัดการควั่นเพื่อตัดท่อลำเลียงอาหาร แต่ถ้ามียอดอ่อนที่กิ่งก็ให้รอจนกว่ายอดจะแก่จึงค่อยตัดลงมา ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลาประมาณ 2 เดือน จึงจะตัดได้ และหลังจากตัดลงมาก็ต้องเปลี่ยนถุงแล้วดูแลต่ออีก 3 เดือน เพื่อให้ต้นพันธุ์แข็งแรงพร้อมขาย

นอกจากนั้นยังบอกต่ออีกว่า มะยงชิดจะให้ผลผลิตได้ในปีไหนขึ้นอยู่กับขนาดกิ่งพันธุ์ที่ใช้ปลูก ถ้ากิ่งเล็กที่สูงสักเมตรจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี แต่ถ้าใหญ่กว่านั้นจะใช้เวลาสั้นมาก หรือแม้แต่ต้นโตที่ปลูกในตะกร้ายังสามารถออกผลได้อีกด้วย


วิธีเก็บมะยงชิด
แนวทางแบบดั้งเดิมคือการสุ่มชิมผลในแต่ละต้น ทั้งนี้เขาชี้ว่า ความไม่แน่นอนเรื่องสีผิวคงไม่สามารถบอกได้ว่ามะยงชิดสุกพร้อมเก็บได้รึยัง เนื่องจากบางปีผิวสีเขียวมีรสหวาน หรือบางปีผิวเหลืองก็ยังไม่หวาน ฉะนั้น ในแต่ละปีจึงต่างกันขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ ยิ่งถ้าอุณหภูมิสัก 20 องศา จะทำให้ออกดอกดีมาก หรือถ้าอากาศหนาวเย็นแล้วมีฝนตกตามมายิ่งทำให้ดอกดก แล้วปีนั้นจะมีผลผลิตมากตามมาด้วย

ผลผลิตมะปราง-มะยงชิดรุ่นแรกจะเริ่มประมาณเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นรุ่นต่อมาจะเริ่มแตกดอกออกผลตามมาเป็นระยะจนกว่าจะถึงเดือนเมษายน ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ถึง 4 รุ่น กว่าจะวาย ทั้งนี้ ต้นที่มีขนาดใหญ่มากจะเก็บด้วยการใช้ไม้สอย หรือปีนต้นแล้วใช้กรรไกรตัดที่ขั้วกิ่งเพื่อรักษาความสมบูรณ์ของผล

อย่างไรก็ตาม ผลมะปราง-มะยงชิดที่ยังไม่ถึงเวลาเก็บขายจะต้องห่อผลเพื่อชะลอไม่ให้สุกเร็ว เป็นการดึงเวลาขายให้นานขึ้น อีกทั้งยังเพื่อป้องกันแมลงศัตรูเข้ามาทำลายผลด้วย ดังนั้น ผลที่ห่อจึงมีผิวเรียบสวยไร้รอยตำหนิ ทำให้สามารถขายได้ราคาสูงและเป็นที่ต้องการของตลาด

ความคิดเห็น